" ตำรวจภูธรเชียงใหม่ ได้บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่พลเรือน ตำรวจ ทหาร เพิ่มความเข้มงวด ตั้งจุดตรวจ จุดสกัด การลาดตระเวน เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้าย รวมทั้งประเมินพื้นที่เสี่ยงที่อาจตกเป็นเป้าหมายในการก่อเหตุร้ายเพื่อสร้างสถานการณ์ โดยกำชับให้ทุก สถานีตำรวจในสังกัดเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด โดยเฉพาะในพื้นที่หน่วยงานราชการ สถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ย่านการค้า ย้ำให้ดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนทุกพื้นที่อย่างเต็มที่ "

พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย
ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่




Brand

: ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่

Brand

: ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่

เกี่ยวกับหน่วยงาน - ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่

เกี่ยวกับหน่วยงาน

วิสัยทัศน์
เร่งแก้ปัญหา      พัฒนาคน
พัฒนางาน     พัฒนาหน่วย
ช่วยรักษา
ชาติ        ศาสน์     กษัตริย์
เพื่อเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ของประชาชน

พันธกิจ
     1. ถวายความปลอดภัย องค์พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์โดยถือเป็นภารกิจที่มีความสำคัญสูงสุด

     2. รักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงภายในพื้นที่รับผิดชอบด้วยการบริหารจัดการที่ดี

     3.บริการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ให้ได้รับความพึงพอใจสูงสุด โดยยึดถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง และชุมชนเป็นฐาน

     4.ป้องกันและควบคุมอาชญากรรม โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม เสริมสร้างให้ชุมชน และท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม

     5.อำนวยความยุติธรรม โดยยึดหลักนิติธรรม ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรมโปร่งใส และตรวจสอบได้

     6.ควบคุมและจัดการจราจรเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และเป็นธรรม

     7.นำระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีสมัยใหม่ มาใช้ในการบริหารจัดการ


ประวัติความเป็นมา
         “ตำรวจ” ในสมัยก่อนเรียกทับศัพท์ว่า “โปลิศ”เริ่มต้นอย่างจริงจังเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จ้างแขกมาเป็น พลตระเวณ เดินตรวจในพระนคร มีฝรั่งชาวอังกฤษ เป็นผู้ควบคุม และพัฒนามาโดยตลอด จนขยายสู่มณฑลต่างๆ ทั่วประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 เริ่มตำรวจภูธร ในปี ร.ศ.116(พ.ศ.2440) ในรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชดำริว่า กิจการที่ได้ทำอยู่ในหัวเมืองมณฑลต่างๆนั้น ยังไม่เป็นที่เกรงขามแก่พวกนักเลงปล้นสดมภ์ และยังไม่เหมาะกับสมัยของบ้านเมือง เพื่อจะให้ความปลอดภัยและสงบสุข แก่อาณาประชาราษฎร์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งกองตำรวจภูธร ในหัวเมืองมณฑลต่างๆ ขึ้น ตำรวจภูธรมีหน้าที่อย่างเดียวกับโปลิศในพระนคร เว้นแต่การไต่สวนคดีตกเป็นหน้าที่ของฝ่ายกรมการอำเภอรับผิดชอบ และร่วมกับตำรวจภูธรในการปราบปรามโจรผู้ร้าย
        สำหรับตำรวจภูธรนั้น มักจะถือเอาจากทหารชั้นเดิม ก็คือ ทหารที่รักษาชายพระราชอาณาเขต เครื่องแบบก็ดี ยุทธวินัยก็ดี การบังคับบัญชาก็ดี อาวุธก็ดี การฝึกหัดให้เข้มแข็งก็ดี มีระเบียบวินัยอย่างเดียวกับทหารทุกประการ ทรงแต่งตั้ง ร.อ.จี.เชาว์(G.Schau) ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้ฝึกสอนและควบคุมบังคับบัญชาต่อมารับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงศัลวิทานนิเทศน์ ซึ่งเดิมรับราชการทหารบก มาเป็นเจ้ากรมกองตระเวณหัวเมือง ต่อมาเลื่อนบรรดาศักดิ์ เป็นพระยาวาสุเทพ และในสมัยรัชกาลที่ 6 แต่งตั้งให้เป็นอธิบดีกรมตำรวจภูธรคนแรก เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2456 การขยายกิจการตำรวจไปส่วนภูมิภาค มีดังนี้ กองตำรวจมณฑลพายัพเริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.2442 พร้อมๆกับการจัดตั้งกองตำรวจภูธรมณฑลนครชัยศรี , นครราชสีมา และมีการจัดตั้งกองตระเวนรักษารถไฟสายเหนือขึ้นด้วย(กิจการตำรวจ ในสมัยรัชกาลที่ 5 หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดพระบรมราชาอนุสาวรีย์ ร.5,โรงเรียนนายร้อยตำรวจ,น.45-46) เชื่อได้ว่า สถานีตำรวจในจังหวัดเชียงใหม่และภาคเหนือคงจะเริ่มมีการก่อสร้างในประมาณ พ.ศ.2442 โดยเริ่มในเขตนครเชียงใหม่และตัวเมืองจังหวัดอื่นก่อน ต่อมาจึงขยายไปตามอำเภอต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปี พ.ศ.2452 โดยเกิดขึ้นพร้อมกับสถานีตำรวจภูธรโดยทั่วไป ที่มีการขยายตัวในช่วงปี พ.ศ.2442-2452 มีการสร้างสถานีตำรวจภูธรขึ้นทุกแห่งที่มีกองบัญชาการมณฑลตั้งอยู่ ได้มีการเปิดสถานีย่อยอีก 330 แห่งในเมืองต่างๆและอำเภอต่างๆของมณฑล บรรดาตำรวจภูธรนี้ในขั้นแรกได้มาจากการอาสาสมัคร แต่การเลือกสรรค่อยๆเปลี่ยนไปเป็นการใช้วิธีเกณฑ์ เพื่อให้มั่นใจว่าจำนวนคนเพิ่มขึ้น พร้อมกับขยายงานในจังหวัดต่างๆ
        ตำรวจภูธรมณฑลพายัพ(ทั่วภาคเหนือตอนบน) สมัยนั้น สายการบังคับบัญชาจึงขึ้นตรงต่อกองบังคับการตำรวจภูธรมณฑลพายัพ หัวหน้าคือ ผู้บังคับการตำรวจภูธรมณฑลพายัพ คนแรก คือ พ.ต.ท.ประกอบรณการ(เพิ่ม บุณยะพรรค) (ทำเนียบข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2457–2464) ที่ทำการของกองบังคับการนั้น คาดว่าอยู่บริเวณเดียวกับสถานีตำรวจกองเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีประวัติว่าได้รับการบริจาคที่ดินและก่อสร้างโดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ คือ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์ หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร์ ในปี พ.ศ.2475 สภาผู้แทนราษฎรได้จัดวางโครงร่างกรมตำรวจใหม่ยกเลิกกองบังคับการตำรวจมณฑลต่างๆ และแย่งตำรวจออกเป็น 4 ภาค แต่ละภาคมีผู้บังคับการเป็นหัวหน้า ระดับย่อยจากภาคแบ่งเป็นสาย หัวหน้าสายตำแหน่งเป็นผู้กำกับการ โดยตำรวจภูธรภาคกลางเป็น 5 สาย , ตำรวจภูธรเหนือแบ่งเป็น 4 สาย , ตำรวจภูธรตะวันออกแบ่งเป็น 4 สาย,ตำรวจภูธรใต้แบ่งเป็น 4 สาย จึงเชื่อได้ว่า ตำแหน่งผู้กำกับการหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ.2475 ปี พ.ศ.2481 มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการตำรวจใหม่ ภาคเหนือตอนบนขึ้นกับเขต 1 และต่อมาเปลี่ยนเป็นเขต 5 มีการย้ายที่ทำการกองบังคับการเขต จากเชียงใหม่ไปอยู่ลำปาง ส่วนกองบังคับการตำรวจภูธรเดิม เปลี่ยนเป็นกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ผู้กำกับการเชียงใหม่ควบตำแหน่งผู้บังคับการเขต คือ พล.ต.ต.เจ้าราชวงศ์ (หนังสือที่ระลึกพิธีเปิดอาคารกองกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ฯ,ประวัติความเป็นมาของกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ,พล.ต.ต.แม้น เพ็ญยโชติ,2514)กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่สมัยนั้น อยู่ด้านข้าง สภ.อ.เมืองเชียงใหม่ไปทางทิศตะวันตก เป็นอาคารไม้ชั้นเดียว มีใต้ถุน ต่อมาปี พ.ศ.2514 เมื่อมีการสร้าง สภ.อ.เมืองใหม่เป็นอาคารคอนกรีต กองกำกับการฯ อยู่ที่ชั้นสองของอาคาร ต่อมาประมาณปี พ.ศ.2517 กองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ย้ายที่ทำการมาอยู่เลขที่ 490 ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ต.ท่าศาลา อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จนถึงปัจจุบัน

รายชื่อ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่อดีตเรื่อยมา คือ
1. พันตำรวจโทหลวงศิลป์ประสิทธิ์ พ.ศ. 2482 - 2486
2. พันตำรวจตรีสิริชัย ไชยคุณา พ.ศ. 2486 - 2489
3. พันตำรวจตรีสาตร์ ปรารถณาดี พ.ศ. 2489 - 2494
4. พันตำรวจโทศิริ คชหิรัญ พ.ศ. 2494 - 2496
5. พันตำรวจเอกศรีสุข มหินพรเทพ พ.ศ. 2496 - 2500
6. พันตำรวจโทมังกร ชื่นมนนุษย์ พ.ศ. 2500 - 2503
7. พันตำรวจเอกเจิดศักดิ์ ตุงคะสิริ พ.ศ. 2503 - 2509
8. พันตำรวจเอกแม้น เพ็ญยโชติ พ.ศ. 2509 - 2513
9. พันตำรวจเอกมานิต มาโนษยวงศ์ พ.ศ. 2513 - 2517
10. พันตำรวจเอกวันชัย ภาติกร พ.ศ. 2517 - 2518
11. พันตำรวจเอกธานี วีรเดชะ พ.ศ. 2518 - 2519
12. พันตำรวจเอกสุวิน ไชยเชาวน์ พ.ศ. 2519 - 2519
13. พันตำรวจเอกดำรง ศุขอร่าม พ.ศ. 2519 - 2520
14. พันตำรวจเอกสุพรรณ ปองทอง พ.ศ. 2520 - 2523
15. พันตำรวจเอกสัจจะ กระแสเวส พ.ศ. 2523 - 2527
16. พันตำรวจเอกเกษม ศุขพงศ์ พ.ศ. 2524 - 2527
17. พันตำรวจเอกสนาม คงเมือง พ.ศ. 2527 - 2529
18. พันตำรวจเอกนาวิน สิงหะผลิน พ.ศ. 2529 - 2531
19. พันตำรวจเอกบำรุง เกิดดี พ.ศ. 2531 - 2533
20. พันตำรวจเอกอนุศิษย์ อัตถศาสตร พ.ศ. 2533 - 2535
21. พันตำรวจเอกพิจิตร อิ่มสงวน พ.ศ. 2535 - 2536

        ต่อมา กรมตำรวจได้ขยายอัตราจากผู้กำกับตำรวจภูธรจังหวัดขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งดังนี้
1. พลตำรวจตรีสนาม คงเมือง พ.ศ. 2536 - 2538
2. พลตำรวจตรีพิมล สินธุนาวา พ.ศ. 2538 - 2540
3. พลตำรวจตรีอนุศิษย์ อัตถศาสตร์ พ.ศ. 2540 - 2542
4. พลตำรวจตรีเกษม รัตนสุนทร พ.ศ. 2542 - 2547
5. พลตำรวจตรีจิรุจจ์ พรหโมบล พ.ศ. 2547 - 2549
6. พลตำรวจตรีบรรฑป สุคนธมาน พ.ศ. 2549 - 2551
7. พลตำรวจตรีสุเทพ เดชรักษา พ.ศ. 2551 - 2552
8. พลตำรวจตรีสมหมาย กองวิสัยสุข พ.ศ. 2552 - 2553
9. พลตำรวจตรีสมศักดิ์ จันทะพิงค์ พ.ศ. 2553 - 2555
10. พลตำรวจตรีเกษมสันต์ บุญญกาญจน์ พ.ศ. 2555 - 2556
11. พลตำรวจตรีกริช กิติลือ พ.ศ. 2556 - 2557
12. พล.ต.ต.มนตรี สัมบุณณานนท์ พ.ศ. 2557 - 2559
13. พล.ต.ต.สรายุทธ สงวนโภคัย พ.ศ. 2559 - 2561
14. พล.ต.ต.พิเชษฐ จีระนันตสิน พ.ศ. 2561 - 2564
15. พล.ต.ต.ธวัชชัย พงษ์วิวัฒนชัย พ.ศ. 2564 - ปัจจุบัน

490 ถนนเชียงใหม่-ลำปาง ตำบลท่าศาลา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50000
โทรศัพท์ : 053 247180   โทรสาร : 053 247180
---------------------------------------------
Copyright @ 2016. Department of ICT POLICE, Chiang Mai Provincial Police.

^Top